วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เรียนธุรกิจไซเบอร์ จบไปแล้วทำงานอะไร

เรียนธุรกิจไซเบอร์ จบไปแล้วทำงานอะไร



             การจัดการธุรกิจไซเบอร์เป็นอีกสาขาวิชาหนึ่งที่ถือว่าน่าจับตามองเอามากๆในปัจจุบัน เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยน อะไรๆก็เปลี่ยนไปมากขึ้น ในเรื่องของธุรกิจก็เช่นกัน จากเดิมที่เคยมีแค่คำว่าธุรกิจเฉยๆ เดี๋ยวนี้ผุดคำว่า "ธุรกิจไซเบอร์"ขึ้นมาอีกคำหนึ่ง ว่าแต่ไอ้อะไรเบ้อๆที่ว่านี่ ถ้าเรียนจบมามันจะเอาไปใช้ทำงานได้จริงๆน่ะเหรอ ? เราไปดูกันดีกว่าครับว่า สาขาการจัดการธุรกิจไซเบอร์นั้นสามารถนำไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง


1. ดิจิตอลมาร์เกตติ้ง 
             แน่นอนว่าเรียนการตลาดมาก็ต้องทำงานการตลาดสิจริงมั๊ย ใครชอบเล่นอินเตอร์เนตตามโลกตามเหตุการณ์ ชอบคิดอะไรใหม่ๆ หรือการวางแผนด้านการตลาดแล้วล่ะก็ อาชีพนี้ถือว่าเป็นอะไรที่น่าทำอยู่เหมือนกันนะ แถมยังเป็นชื่อที่ดูเท่เก๋ไก๋เป็นที่สุด มาร์เก็ตติ้งอย่างเดียวก็เฟี้ยงแล้ว มีดิจิตอลเข้าไปอีก แหม่ะ!  

2.ครีเอทีฟ
            ใครที่รักการออกแบบแต่ไม่มีพรสวรรค์ด้านศิลปะล่ะก็ ลองหันมามองอาชีพนี้กันดูได้นะ ในเรื่องการทำงานจะว่าคล้ายกับมาร์เก็ตติ้งก็คล้ายอยู่นะ แต่เราต้องเค้นความสร้างสรรค์ออกมามาก เพราครีเอทีฟ ถ้าไม่ครีเอทก็อาจจะโดน"ทีฟ"ได้

3.ธุรกิจส่วนตัว
             นี่มันอาชีพในฝันของหลายๆคนเลยนะเนี่ย หลายๆคนคิดว่าการเป็นเจ้านายตัวเองนี่แหละดีที่สุด ไม่ต้องโดนเรียกใช้งาน ไม่ต้องคอยปั่นงานตามคำสั่ง อยากหยุดเมื่อไหร่ก็หยุดได้ แต่! เรื่องจริงๆแล้ว การทำธุรกิจส่วนตัวออกจะเป็นการฝึกวินัยตัวเองซะมากกว่า ลองคิดดูสิ ถ้าเราสามารถหยุดงานได้ตลอดเวลาที่อยากจะหยุด...(นี่มันข้ออ้างที่จะไม่ทำอะไรเลยต่างหาก!)

4.นักพัฒนาอันดับเว็บไซต์
               ชื่อเรียกซะสวยหรู จริงๆก็คืออาชีพนักทำSEOให้แก่เว็บไซต์นั่นเอง เหมาะมากสำหรับคนที่ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบอัพเดตข่าวสารภายนอก(แต่ก็ควรฝึกบ้างนะจ๊ะ) ไม่ชอบเปิดหูเปิดตา และรักในการนั่งหน้าคอมเป็นเวลานานๆ พูดง่ายๆก็คือคนที่ไม่ชอบการเข้าสังคมนั่นแหละ 

5.ขายของ
               ฟังไม่ผิดหรอก ให้ไปขายของน่ะถูกแล้ว อย่าดูถูกไปเชียวนะ เพราะอย่าลืมว่าเราเรียนธุรกิจ"ไซเบอร์"จ้า ใช้คำว่าไซเบอร์ให้เป็นประโยชน์ สมัยนี้ช่องทางการขายของมีทั่วไปตามซอกหลืบ เพียงแค่มีอินเตอร์เนตก็ขายของได้แล้ว สะดวก ง่าย วันพุช


ป่องน้อย ราชแซง
       

ความในใจจากรุ่นพี่(อาจารย์) ถึงธุรกิจไซเบอร์ วิทยาลัยนวัตกรรม

หลังจากที่สาขา"การจัดการธุรกิจไซเบอร์"ได้เปิดหลักสูตรกันมาก็หลายปีจนมีชื่อเสียงขึ้นมาบ้างแล้ว หลายๆคนก็อาจเกิดคำถามขึ้นมาว่า อ้าว แล้วเรียนไปทำอะไรได้ แล้วหลักสูตรมันสอนอะไรกันนะ การบ้านเยอะมั๊ย บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้ทางบล็อกธุรกิจไซเบอร์ก็ได้ไปเสาะหาบทความเจ๋งๆจากรุ่นพี่(ปัจจุบันเป็นอาจารย์)ที่จบจากสาขานี้มาฝากกันค่ะ ถึงจะยาวไปหน่อยแต่รับรองว่ามีประโยชน์แน่นอน

ความรู้สึกที่มีต่อวิทยาลัยนวัตกรรมฯ ความคาดหวังว่าจบไปแล้วจะทำงานอะไรและจะได้อะไรจากที่นี่

 ผมรู้จักชื่อของวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคมครั้งแรกเมื่อตอนที่ผมสอบเอ็นทรานซ์ไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าหมดที่จะไปนะครับ ผมยังติดสอบตรงอยู่อีกหลายที่ เช่น ม.มหาสารคาม ม.แม่โจ้ ม.ศิลปากร ม.ราชภัฏสวนดุสิต ม.ราชภัฏมหาสารคาม ม.ราชมงคลขอนแก่น ที่ผมติดหลายที่ล้วนแต่ได้โควตานักเรียนดีเด่นทั้งสิ้น แต่ในตอนนั้นผมก็ยังไม่ค่อยรู้สึกชอบอะไรเพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวของผม ก็เท่านั้น จนกระทั่งมาได้ยินว่ามหาวิยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดสอบตรงรอบสามผมจึงลองเปิดดูสาขาที่เปิดรับ ก็ปรากฏว่ามาเจอชื่อวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม ซึ่งอ่านแล้วรู้สึกตะหงิดๆ คุ้นๆแต่คำว่านวัตกรรม ที่ได้ยินบ่อยมาก ผมจึงเกิดความสนใจในชื่อของวิทยาลัยว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร ผมจึงดูรายละเอียดของหลักสูตรที่รับสมัคร ก็มาเจอชื่อสาขาที่ไม่ค่อยคุ้นนั่นก็คือ สาขาการจัดการธุรกิจไซเบอร์ และสาขาการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย ยิ่งทำให้ผมสนใจในวิทยาลัยและหลักสูตรนี้มากขึ้น เพราะชื่อไม่คุ้นหู อยากรู้ว่าเค้าเรียนเกี่ยวกับอะไร จบไปแล้วทำงานอะไรได้บ้างจากนั้นผมจึงเริ่มศึกษาข้อมูลเพื่อที่จะเลือกลงในสองสาขาวิชานี้ ก็ปรากฏว่าไปโดนใจเอาสาขาการจัดการธุรกิจไซเบอร์ เพราะข้อมูลที่ทราบเบื้องต้นนั้น พอจะทราบว่าเป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจออนไลน์ การทำงานทางอินเตอร์เน็ต หรือการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการค้าขาย เป็นต้น และด้วยความที่ผมเป็นคนชอบเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสนใจและชอบในสาขานี้อยู่มากเลยทีเดียว

อันที่จริงหากจะเล่าความเดิม ตัวผมเองเคยใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นครูเหมือน ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อ เพราะผมชอบพูดชอบสอนคนอื่น ชอบงานด้านการศึกษา แต่เนื่องด้วยเกิดข้อผิดพลาดบางประการตอนสอบแอดมิชชั่นจึงทำให้ผมสอบคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ไม่ได้ทั่วประเทศ ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรเหลือแล้ว ไม่อยากจะอยู่ต่อไป เพราะความฝันของผมมันได้ล่มสลายไปแล้วกับการสอบแอดมิชชั่น แต่พ่อก็ได้ให้กำลังใจผมและท่านก็บอกผมว่า “อยากเป็นครูไม่จำเป็นจะต้องจบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จบอะไรมาก็เป็นครูได้” จึงทำให้ผมคิดได้ ผมเริ่มกลับมามีกำลังใจในการเรียนอีกครั้ง ผมเริ่มมองตัวเองว่านอกจากครูอาชีพที่เราฝันไว้นั้นเรายังชอบอะไรถัดลงมา ปรากฏว่างานทางด้านธุรกิจหรือการจัดการ เป็นสิ่งที่ผมชอบรองลงมาจากอาชีพครู ผมจึงเริ่มหาข้อมูลว่ามหาวิทยาลัยไหนเปิดหลักสูตรใหม่ๆ และน่าสนใจบ้าง และเหมาะสมกับตัวเราหรือเปล่าและผมก็โชคดี เพราะได้มาเจอหลักสูตรที่แปลกใหม่และน่าสนใจของวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม อย่างที่ได้กล่าวมาผมได้ศึกษาหาข้อมูลถึงรายละเอียดของหลักสูตรจนสามารถตัดสินใจเลือกสมัครสอบที่นี่และคิดว่าถ้าสอบติดจะเอาที่นี่แหละเพราะอย่างน้อยผมก็อยากจะเป็นรุ่นน้อง คุณตา และคุณพ่อ เพราะท่านทั้งสอง จบปริญญาตรีจากที่นี่

หลังจากผลสอบตรงประกาศและผมก็รู้ตัวแล้วว่าตัวเองสอบติด ใจหนึ่งรู้สึกดีใจมาก แต่อีกใจหนึ่งก็ยัง งงๆอยู่ว่าเรามาเรียนอะไรเนี่ย จะไหวเหรอ ยิ่งตอนสอบสัมภาษณ์ที่เป็นภาษาอังกฤษด้วยแล้วยิ่งทำให้ถอดใจเพราะตัวผมเองเป็นคนไม่เก่งภาษาอังกฤษเอามากๆ จึงทำให้วันสัมภาษณ์ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองเท่าไหร่นัก แต่โชคดีที่ผมได้สอบกับอาจารย์สามมิติ ซึ่งท่านใจดีมาก ความกดดันผมหายแทบหมด (แต่ยังมีเหลืออยู่นิดๆ) เพราะท่านจะสัมภาษณ์เป็นภาษาไทยซะส่วนมาก มีอังกฤษบ้างเล็กน้อย จากอาการท้อและไม่มั่นใจในสาขานี้ที่จะต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็เริ่มกลับมามีกำลังใจมากขึ้น และก็ให้สัญญากับตัวเองว่า ถ้าสอบผ่านจะตั้งใจเรียนอังกฤษให้เก่ง และสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่วด้วย

40,000 บาท นี้คือเงินค่าบำรุงการศึกษาของนิสิตวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม ที่ต้องจ่ายเท่ากันหมดทุกวิชาเอก ตอนแรกผมและครอบครัวตกใจกันพอสมควรเรื่องค่าเทอม เพราะรู้สึกว่าสูงมาก แต่ด้วยความที่คุณพ่อเป็นนักวิชาการ ท่านจึงคิดว่าค่าเทอมสูงแสดงว่าคุณภาพเค้าต้องสูงด้วย ผมจึงตัดสินใจรายงานตัวเพื่อเข้าศึกษาต่อที่นี่ทันที โดยไม่รู้เลยว่าวิทยาลัยฯนี้เค้าจะสอนอะไรให้เรา เค้าจะเรียนยังไงผมกะว่าจะมาลองเรียนดูก่อนถ้าไม่ไหวจริงๆ ค่อยซิ่วไปเรียนที่อื่น อะไรประมาณนั้น ทันทีที่ได้มาเรียนในรั้วของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันการศึกษาอันทรงคุณค่า มีเกียรติศักดิ์ศรีและมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ผมรู้สึกภูมิใจมากเลยครับ และคิดว่าไม่ผิดแน่ เราเลือกเรียนที่นี่ไม่ผิดแน่ เราคงจะเรียนได้อย่างมีความสุขแน่นอน เพราะเพื่อนๆทุกคนล้วนแต่เป็นกันเองมีความจริงใจและช่วยเหลือกันอยู่ตลอดเวลา วันแรกที่เข้ามา ด้วยความที่ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดจึงมีความกระตือรือร้นที่อยากจะรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ เพราะฉะนั้นเวลาผมเจอเพื่อนในวิทยาลัยฯ ผมก็จะเข้าไปพูดคุยทักทายและแนะนำตัว ด้วยเหตุที่ผมอัธยาศัยดีละมั้งครับ เพื่อนๆเลยให้ผมเป็นประธานเอกการจัดการธุรกิจไซเบอร์ ทำหน้าที่เป็นผู้นำของเพื่อนๆ ได้เพื่อนช่วยหลายคนภาระงานเลยไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ผมทำงานในหน้าที่นี้ได้ไม่นานก็ต้องลาออกเพื่อไปทำงานในอีกหน้าที่หนึ่งซึ่งเป็นภาระอย่างแท้จริง

ประธานสโมสรนิสิตวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นี่คือชื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการของผม และนี่คือการมารับงานอ้อไม่สิต้องเรียกว่ามาลุยงานเพราะพวกผมเป็นนิสิตวิทยาลัยฯ รุ่นแรก ไม่มีรุ่นพี่จึงถือว่าผมเป็นประธานสโมฯ คนแรกของวิทยาลัยนวัตกรรมฯ เป็นอะไรที่ลำบากและต้องมีความอดทนสูงมาก เพราะผมไม่รู้ข้อมูลอะไรเลยจะทำงานอะไรได้ เพื่อนๆที่เป็นคณะกรรมการ ก็ไม่ต่างอะไรจากผมเพราะต่างก็มือใหม่กันทั้งนั้น แต่นับว่าโชคดีนะครับที่ได้รุ่นพี่สโมสรฯ คณะอื่นที่เมตตาและสงสารยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจนทำให้งานและกิจกรรมผ่านไปได้อย่างคาบเส้น(เพราะยังไม่ดีเท่าที่ควร)

และวาระการเป็นประธานสโมสรฯ ของผมก็สิ้นสุดลงวันนั้นผมรู้สึกโล่งและสบายใจมาก ที่ภาระอันหนักหน่วงกำลังจะหมดไปตามวาระ ผมก็คิดว่าคงมีคนอื่นที่ทำงานได้ดีกว่าผมขึ้นมาเป็นประธานฯ แทนผมแน่ๆ แต่ไม่เลยเพราะการเลือกตั้งประธานสโมสรฯ ครั้งนี้ผมได้รับตำแหน่งอีกครั้ง ดูสิครับมันมาอีกแล้ว แต่ขอบอกตามตรงนะครับว่า ใจจริงแล้วผมเป็นคนชอบทำกิจกรรม ชอบทำงานนู่นงานนี่อยู่เรื่อยโดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยความเสียสละ ความอดทน ผมชอบทำมากๆ เพราะผมอยากจะเป็นเหมือนคุณตา ของผมซึ่งท่านมีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น การได้รับเลือกให้เป็นประธานสโมฯ อีกครั้งจึงไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร แต่กลับดีใจและมีพลังใจในการทำงานอย่างเต็มเปี่ยม เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาในสมัยแรกที่เป็น ประกอบกับมีเพื่อนๆที่ดีคอยช่วยงานผม จึงไม่รู้สึกเหมือนครั้งแรกที่เป็นประธานฯ

เอาละครับผมบรรยายสรรพคุณเพื่อน และตัวเองมานานแล้ว ยังเหลืออีกสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้นั่นก็คือคณาจารย์ และพี่ๆ วิทยาลัยนวัตกรรมฯ ซึ่งท่านเหล่านี้เป็นยังไงบ้างนั้นอ่านต่อไปเลยนะครับอาจารย์ทุกท่านใจดีและเป็นกันเองกับลูกศิษย์มากมาย เริ่มจากท่าน ผอ.แม้พวกเราจะไม่ค่อยได้พบท่าน แต่ผมโชคดีที่ได้พบท่านอยู่บ่อยๆเวลาไปติดต่องานที่วิทยาลัยฯ ท่านเป็นคนใจดีอัธยาศัยดี ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดอาจารย์ ดร.ประมา ท่านเป็นอาจารย์ที่ดูเหมือนจะดุแต่ไม่ดุ กลับกันท่านเป็นคนอัธยาศัยดีมากเป็นที่รักและสนิทสนมของนิสิต ในวิทยาลัยฯหลายคนเลยทีเดียว อาจารย์เอก ท่านเป็นคนที่ไม่เรื่องมากให้นิสิตออกเสียงกันได้อย่างเต็มที่ช่วยเหลือได้ในทุกเรื่อง จริงมั้ยครับอาจารย์ อิอิ อาจารย์ฉัตรเมือง ท่านเป็นรองฯฝ่ายปกครอง ท่านจึงดุและขรึมในเวลาทำงาน แต่เวลารีแลกซ์ ท่านก็ใจดีและชอบความบันเทิง เช่น คาราโอเกะ เป็นต้น อาจารย์ทะนุพงษ์ ท่านพึ่งมาอยู่ที่วิทยาลัยแต่ท่านก็คงจะไปศึกษาข้อมูลนิสิตมาแล้ว ว่าพวกเราขยันกันมาก ในทันทีที่ท่านมาถึง ท่านก็มาพร้อมกับการสั่งงานชิ้นใหญ่หลายชิ้น นิสิตทุกคนล้วนมีความรับผิดชอบเพราะต่างขอเลื่อนกำหนดส่งกันถ้วนหน้า อิอิ แต่อาจารย์ท่านก็ไม่ถือสาหาความอะไร ท่านเป็นคนที่พยายามสอนและให้ความรู้พวกเราอย่างเต็มที่ แต่บางทีก็รู้สึกว่ายากมาก ท่านต่อไปนี้เป็นวิชาที่นิสิตวิทยาลัยนวัตกรรมฯ ไม่ขอเลื่อนกำหนดส่งงาน ไม่เข้าสาย ไม่คุยกัน และไม่กล้าถาม เพราะท่านนี้คือ อาจารย์สาวสุดสวย อาจารย์สิรินันท์หรือ อาจารย์จอย นั่นเอง นิสิตทุกคนเกรงใจและเกรงกลัวท่านมาก ท่านพยายามจะให้ความรู้แก่พวกเรามากที่สุดแม้จะดุไปบ้าง แต่ก็เพราะท่านหวังดีและรักพวกเรานะครับ ท่านต่อมาคือครูป่านหรืออาจารย์ป่าน ผมพึ่งรู้ว่าท่านชอบอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องลึกลับ ออกแนวผีๆ ซึ่งตัวผมก็ชอบเรื่องแนวนี้อยู่ ผมยังไม่เคยมีโอกาสเรียนกับครูป่านจึงทำให้ไม่รู้ว่าท่านสอนเป็นยังไง แต่เท่าที่รู้จักครูป่าน ท่านใจดีเป็นกันเองและเป็นห่วงนิสิตวิทยาลัยฯ ทุกคนมากโดยเฉพาะน้องชายสุดหล่อของท่าน อิอิ ครูกุ้งท่านพึ่งจะย้ายมาใหม่แต่ก็สนิทสนมกับผมมาก ว่างๆก็ชวนไปแพทย์อยู่เป็นนิจ อิอิ เวลาท่านเอาจริงนี่น่ากลัวมาก อาจารย์ ดร.มานะ ผมละรู้สึกเกรงใจท่านมากเพราะท่านคงคิดว่าพวกเราเรียนเป็นแบบ 2 ภาษาคงจะเก่งอังกฤษ เหอะๆ แต่ไม่เลย ไม่เป็นดังที่คิด ต้องขอโทษอาจารย์จริงๆครับ และอีกสองท่านที่ผมขาดไปเสียไม่ได้นั่นก็คือ
พี่แก๊กและพี่ลีที่ผ่านมารบกวนพี่ๆมาตลอดเลยจนไม่กล้าจะไปรบกวน แต่ก็ยังไปกวนอีกจนได้ พี่เค้าก็ไม่เคยบ่นอะไรเลย(จริงรึป่าวไม่รู้) แต่พี่เขาก็มากใจดีนะครับ

อ้อ...ลืมไปที่ผมบรรยายมาเยอะแยะเนี่ยไม่ใช่นอกเรื่อง แต่สิ่งที่ผมเขียนไปนั้นล้วนแต่เป็นประสบการณ์ ความรู้สึกและสิ่งที่ผมคาดหวังว่าจะได้รับจากวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคมแห่งนี้ผมคิดเอาไว้ว่าจะต้องตั้งใจเรียนให้คุ้มกับค่าเทอมและพยายามแบ่งเรื่องเรียนกับเรื่องกิจกรรมออกจากกันเพราะสองสิ่งนี้สำคัญพอๆกัน ที่เราเข้าศึกษาต่อนั้นก็เพื่อที่จะมาเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ในสิ่งที่ยังไม่มีในหัวสมองตลอดจนมาหาประสบการณ์ใหม่ๆในชีวิตด้วย การเรียนจึงนับว่าสำคัญและที่สุดของการเรียนที่ผมคาดหวังเอาไว้นั้นคือคำว่าเกียรตินิยม อันดับ 2 ต่อท้ายปริญญาบัตร ที่ผมหวังไว้เพียงอันดับ 2 นั้นก็เพราะผมรู้ตัวผมเองดีว่าไม่เก่งพอที่จะคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครองได้ จึงหวังไว้เพียงแค่อันดับ 2 นี่แหละครับ

เรื่องกิจกรรม เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความสมัครใจ ความเสียสละและความอดทน การทำกิจกรรมต่างๆจึงจะประสบความสำเร็จ กิจกรรมนี้ผู้ที่จะมาทำจะต้องรู้จักแบ่งเวลา อย่าทำจนเสียการเรียน กิจกรรมนี้ถึงแม้จะไม่มีบรรจุอยู่ในหลักสูตรจะไม่มีค่าหน่วยกิต ที่จะส่งผลต่อผลการเรียนโดยตรง แต่กิจกรรมนี่แหละที่จะทำคนให้เต็มคน ทำบัณฑิตให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ ทั้งวัยวุฒิ คนที่ผ่านงานกิจกรรมมานั้นจะเป็นคนที่มีลักษณะเป็นผู้นำที่ดีรู้จักระบบการทำงานในหลายๆด้าน มีประสบการณ์ที่พร้อมกับทุกๆงานที่จะพบเจอในอนาคต ซึ่งก็ส่งผลทางอ้อมต่อชีวิตของเราเช่นกัน เรื่องกิจกรรมนี้จึงสำคัญเช่นกัน

ผมจะขอยกตัวอย่างของตัวผมเอง เมื่อก่อนตอนผมอยู่มัธยมปลายผมก็เป็นคนชอบทำกิจกรรมมากจนเสียการเรียน ทำให้เป็นที่ไม่พอใจแก่คุณพ่อ คุณแม่ ตลอดจนครูและเพื่อนสนิท ซึ่งทุกคนต่างก็เตือนผมให้สนใจการเรียนบ้าง ตัวผมเองก็ยังตั้งหน้าตั้งตาทำแต่กิจกรรมต่อไปไม่หยุดไม่หย่อน เพราะผมรู้สึกสนุกและชอบที่จะได้ไปพบปะผู้คนมากมาย จนกระทั่งผลการเรียนของผมตกต่ำชนิดที่ว่าวิกฤตเลยก็ว่าได้ ช่วงนั้นก็ได้คุณตาเข้ามาเตือนสติผมและทำให้คิดได้ผมเริ่มปลีกตัวเองออกมาจากกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงแต่ก็ไม่ถึงกับออกมาหมดยังทำอยู่บางอย่าง เริ่มรู้จักแบ่งเวลามากขึ้นการเรียนดีขึ้นอาจารย์และเพื่อนช่วยผลักดันผมอย่างเต็มที่และผมก็พึ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าถ้าเรารู้จักแบ่งเวลาการเรียนและการทำกิจกรรมนอกจากจะเรียนได้ดีแล้วกิจกรรมก็ยังเด่นอีกต่างหาก พูดแล้วจะหาว่าคุย ผมได้รับรางวัลนักเรียนดีเด่น “คนดีศรี วย.” คนแรกของโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติทองคำ(สี) และทุนการศึกษาซึ่งเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมากมาจนถึงวันนี้และตอนจบการศึกษาผมก็จบด้วยเกรดเฉลี่ย 3.20 อีกด้วยนะครับ เชื่อมั้ยล่ะและผมก็เคยหวังเอาไว้อีกว่าหากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.) สาขานวัตกรรมสื่อสารสังคม วิชาเอกการจัดการธุรกิจไซเบอร์ ผมคิดว่าจะเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเลย เพราะไม่อยากเรียนตอนแก่กลัวจะไม่มีแรงเรียน ตอนนี้ยังหนุ่มยังแน่นต้องรีบเรียน

แผนการศึกษาที่ผมคิดไว้มีดังนี้

-วท.บ. (นวัตกรรมสื่อสารสังคม:การจัดการธุรกิจไซเบอร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
-น.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-ปริญญาโท ในสาขาที่เกี่ยวกับ ธุรกิจไซเบอร์ หรือที่เกี่ยวข้อง จากประเทศ ญี่ปุ่น จีน เยอรมัน เป็นต้น
-ปริญญาเอก ในสาขาที่เกี่ยวกับ ธุรกิจไซเบอร์ หรือที่เกี่ยวข้อง จากประเทศ ญี่ปุ่น จีน เยอรมัน เป็นต้น

นี่คือแผนการศึกษาของผมซึ่งอาจจะดูสูงไป แต่ผมก็จะพยายามทำตามแผนนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องใช้ความพยายามความอดทนมากน้อยแค่ไหนแต่ผมก็จะทำให้เต็มที่

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสิ่งที่ผม อ๋อไม่สิหลายๆคนเลยแหละหรืออาจจะทุกคนเลย นั่นก็คือการหางานทำเชื่อมั้ยครับว่า จนถึงวันนี้ความคิดที่ผมอยากจะเป็นครู ยังคงมีอยู่เต็มหัวใจของผมเพียงแต่ผมไม่แสดงออกมาเท่านั้นเอง ผมหวังเอาไว้ว่าหากเรียนจบจาก มศว ผมก็จะขอเป็นอาจารย์ มศว เพราะ 4 ปี นี้คงจะทำให้ผมผูกพันธ์กับคนและสถานที่อย่างแน่นอน ความคิดที่อยากจะทำงานเป็นอาจารย์ที่ มศว จึงเริ่มขึ้น แต่ก็คงได้แค่คิดเพราะไม่รู้ว่าผมจะมีความสามารถขนาดนั้นหรือเปล่าผมคงต้องพยายามให้มากกว่านี้ วันนั้นอาจจะมาถึงก็ได้ใครจะรู้จริงมั้ยครับ การเป็นครูนั้นถ้าได้สอนที่ มศว ผมคงจะได้สอนในสาขาที่ผมจบมา เช่น ผมจบการจัดการธุรกิจไซเบอร์มา ก็คงจะต้องสอนสาขานี้ แต่ถ้าปริญญาโท ปริญญาเอก ผมจบการตลาดมา อาจจะได้สอนการตลาดเหมือนอาจารย์ ดร.ประมา ก็ได้ แต่ถ้าหากได้ทำงานที่สถาบันการศึกษาอื่น ผมก็คงจะเดาไม่ได้แน่ว่าจะได้เป็นอาจารย์สอนอะไร เพราะว่าสาขาที่ผมเรียนในปัจจุบันนี้(2551)ไม่ปรากฏว่ามีสถาบันการศึกษาใดในประเทศไทยเปิดสอนเลย จึงจัดว่าเป็นสาขาที่ใหม่อยู่มากหากต้องไปทำงานที่อื่นผู้สัมภาษณ์งานคงต้องถามอย่างแน่นอนว่าสาขาที่เราจบมานั้นเรียนเกี่ยวกับอะไร

ตัวผมเองก็เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าที่นี่เค้าเรียนอะไรกัน เรียนแบบไหน จบมาทำอะไร มีแหล่งงานรองรับหรือไม่ และก็แปลกนะครับ ผมก็ตอบคำถามให้ตัวเองไปในตัวเลยว่า.......

- ที่นี่เค้าเรียนเป็นแบบสองภาษานะ จะไหวมั้ยมีภาษาอังกฤษเนี่ย ตายแน่ๆ
- ค่าเทอม 40000 บาท แพงอยู่นะ จะไหวเหรอ มันจะคุ้มค่าเทอมมั้ยละ
- ธุรกิจไซเบอร์ เป็นการเรียนรู้เพื่อต่อยอดนักธุรกิจทางอินเตอร์เน็ต เพื่อสร้างนักธุรกิจที่มีคุณธรรมจริยธรรม ที่ออกไปทำงานบนโลกออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยม และไร้ขีดจำกัด
- และที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการมีงานทำ ผมค่อนข้างเชื่อและมั่นใจในความคิดของตนเองว่าหากจะมีคณะใดหรือสถานศึกษาใดเปิดหลักสูตรใหม่ออกมานั้นแสดงว่าสาขานั้นเป็นที่ต้องการหรือาดแคลนในตลาดงานอย่างแน่นอน ผมจึงไม่ลังเลที่จะเรียนที่นี่

แต่คนเราก็จะมาหวังอยู่แต่สิ่งเดิมๆไม่ได้ ต้องมีเผื่อเอาไว้ด้วยเพราะถ้าเราทำตามจุดประสงค์แรกที่เราตั้งไว้ไม่ได้เราควรจะคิดแผนสำรองเอาไว้ด้วยกันความผิดพลาด ผมเองก็มีแผนสำรองเอาไว้อยู่เหมือนกันเพราะเดี๋ยวนี้คนที่จบสายอาชีพครูมามีเยอะพอสมควร แต่อัตราครูตอนนี้ยังไม่ขาดแคลนเลย อาชีพรองลงมาที่ผมคิดว่าจบการจัดการธุรกิจไซเบอร์ไปแล้วจะทำได้ ก็คือ

1.ทำงานธนาคาร เพราะธนาคารเดี๋ยวนี้ข้อมูลหรือระบบต่างๆตองใช้อินเตอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมต่อ ผมจึงคิดว่าจบสาขานี้ไปแล้วน่าจะทำงานธนาคารได้

2.ทำงานกระทรวงพาณิชย์ หรือการคลัง เพราะว่ากระทรวงทั้งสองกระทรวงเป็นอะไรที่ต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจอยู่แล้ว ไม่มากก็น้อยจึงเคยคิดไว้ว่าน่าจะพอทำได้

3.ทำงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ ทำงานประเภทคอยตรวจตราดูแลสื่อต่างๆบนอินเตอร์น็ต เช่น เว็บลามก เว็บค้าของเถื่อน เป็นต้น ซึ่งผมก็คิด ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับสาขาที่จบเหมือนกันนะครับ

4.คือเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง บนอินเตอร์เน็ต ผมเองก็มีความสนใจในอาชีพค้าขายอยู่เหมือนกันหากมีร้านบนอินเตอร์เน็ต ก็จะสะดวกดี ไม่ต้องไปก่อสร้างร้านเป็นตึก เป็นอาคารให้สิ้นเปลือง แถมยังสะดวกมากมายไม่วุ่นวายเหมือนเปิดร้านจริงๆ ผมเป็นคนชอบพวกพระเครื่อง ผมก็อาจจะเปิดร้านจำหน่ายและให้ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องแบบครบวงจรเลยก็ได้ เพราะคนไทยเป็นอะไรที่เชื่อในเรื่องของโชคลาง พระเครื่องก็เป็นหนึ่งในสิ่งยึดเหนี่ยวจิตรใจ รวมถึงยังสามารถให้คำแนะนำในการเลือกบูชาวัตถุมงคล การเลือกพระเครื่องแขวนคอ ตามวันเกิด เป็นต้น นี่แค่คิดผมก็ไปได้ไกลแล้วนะเนี่ย ถ้าได้ทำจริงๆก็คงจะน่าสนุกอยู่เหมือนกัน

5.หรือไม่ก็อยากจะเป็นอาจารย์ วิทยาลัยนวัตกรรมฯ มศว นี่แหละครับ

ในความรู้สึกของผมนะครับ ผมอยากให้วิทยาลัยนวัตกรรมฯ เป็นอะไรที่มากกว่านี้ มีอะไรที่เป็นนวัตกรรมฯ ที่ดูโดดเด่นขึ้นมา เช่น

เครื่องมือและสื่อการสอน ผมอยากให้วิทยาลัยฯ มีสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเพียงพอต่อความต้องการของนิสิต เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร
ห้องเรียนและห้องทำกิจกรรม ตอนนี้ผมเข้าใจนะครับว่าตึกวิทยาลัยฯ ของเรายังสร้างไม่เสร็จซึ่งคงต้องรอกันพอสมควร แต่ในระหว่างนี้ ก็อยากจะให้วิทยาลัยฯ จัดสรรห้องเรียนและห้องทำกิจกรรมให้ด้วยนะครับ

การเรียนรู้นอกห้องเรียน นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งและผมก็คิดว่าสำคัญมากเพราะการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นอะไรที่หลากหลายศึกษาได้ไม่มีที่สิ้นสุด จะเป็นการสร้างบรรยากาศในการเรียนให้ผู้เรียนมีความสนใจและมีความสุขมากขึ้น สิ่งดังกล่าวก็ได้แก่ การให้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จาก หนังสือ อินเตอร์เน็ต ฯ การจัดการฝึกอบรมหรือสอนเสริมให้กับนิสิตในวิทยาลัยฯ เช่น การสอนตัดต่อวีดีโอ การถ่ายภาพ การสร้างเว็บไซต์ การออกแบบและเขียนโปรแกรม การฝึกอบรมภาษา ( อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯลฯ ) การพานิสิตไปทัศนศึกษานอกสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพหรือหลักสูตรของวิทยาลัยฯ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ไปดูงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล ฯ หรือถ้าจะไปต่างประเทศก็ เช่น จีน (เพราะจีนเป็นแหล่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่กำลังพัฒนาอยู่ตลอดเวลา) หรือ เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละครับจะเป็นสิ่งที่สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ได้อย่างมากเลยทีเดียว และผมก็เชื่อว่านิสิตในวิทยาลัยฯ หลายๆ คนก็คงคิดเช่นผม ผมจึงได้แต่หวังทางวิทยาลัยฯ คงจะจัดโครงการหรือสิ่งดีๆ ให้กับนิสิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะครับ

สุดท้ายนี้ผมก็อยากจะบอกว่าสิ่งที่ผมเขียนไปทั้งหมดนั้นล้วนเป็นความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวของผมอาจจะมีผิดบ้าง ถูกบ้าง มีสาระและไร้สาระ แต่อย่างไรก็ดีผมก็หวังว่าความคิดของผมคงจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง ถ้าอ่านแล้วไม่สบายใจก็ตำหนิกันมาตรงๆได้เลยนะครับ แต่ถ้าอ่านแล้วชอบใจหรือพอได้เนื้อหาสาระบ้างผมก็ขอยกความดีนี้ให้กับผู้มีพระคุณทั้งหมดของผม อันได้แก่ คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ครู-อาจารย์ตลอดจนเพื่อนๆและทุกๆคน ที่มีน้ำใจไมตรีที่ดีต่อผม และสุดท้ายจริงๆถ้าบทความนี้มีข้อผิดพลาดประการใดทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

ขอบคุณมากนะครับอาจารย์ที่เปิดโอกาสให้เขียน
นายปริญญ์ โสภา (แม็ค)

แนะนำวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

แนะนำวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

          วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็น 1 ใน 4 วิทยาลัยของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมี วิทยาลัยนานาชาติเพื่อศึกษาความยั่งยืน วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย และ วิทยาลัยสัมพันธภาพสากล

ความเป็นมา

          "วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม" (College of Social Communication Innovation) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่  7 กรกฏาคม 2549 นับเป็นเจตนารมณ์ที่จะขยายบทบาทการสร้างดุลยภาพ ในเรื่องการสื่อสาร  (Communication and Media) ในสังคมตลอดจนการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้สามารถควบคุมและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสื่อสารที่มีบทบาทต่อสังคมและชีวิต ทั้งนี้ โดยอาศัยมิติคิดที่ต่างไปจากเดิม กล่าวคือ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคมจะเป็นองค์กรด้านการศึกษา และวิจัยที่มีรากฐานจากการบูรณาการศาสตร์ด้านการสื่อสาร คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี การจัดการเชิงธุรกิจ ศิลปะ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างมิติองค์ความรู้ที่ทันสมัย สำหรับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเหตุที่เชื่อว่า หากเราสามารถสร้างสมดุลและบูรณาการให้เกิดขึ้นได้แล้ว เราจะสามารถพัฒนาสื่อเหล่านั้นให้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมได้มากมาย อาทิ อาจเป็นสื่อสารบันเทิง   (Entertainment Communication)

          สื่อสารสิกขบันเทิงและทรงพลังสำหรับคนรุ่นต่อไป  อีกทั้งยังสามารถเป็นองค์กรสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศชาติและสังคมไทยเท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของสื่อที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมากยิ่งขึ้น การจัดการเรียนการสอนของ "วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม" จะเป็นการจัดการเรียนการสอนในเชิงสหวิทยาการ โดยบูรณาการสรรพความรู้ในสังคม องค์ความรู้จากสถาบัน สำนักต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานร่วมกันของผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน ในสังคมและในมหาวิทยาลัยฯ เชื่อมโยงกับองค์กรสื่อสารสังคมเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยวางเป้าหมายให้เป็นห้องทดลองในเชิงปฏิบัติการ (Laboratory) เป็นการศึกษาระบบสหกิจศึกษา (Cooperative Education) ร่วมมือกับเอกชน และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย  เกาหลี สิงคโปร์ และฮ่องกง

          มีการเรียนการสอน 2 ภาษา คือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ย่อมส่งผลให้นิสิตทางด้านนี้เรียนรู้และติดต่อสื่อสารได้กว้างและหลากหลายในกระแสโลกาภิวัตน์ และท้องถิ่นภิวัฒน์ในปัจจุบัน
 ประกอบกับการได้ศึกษาวิชาแกนในเรื่องวัฒนธรรม ศิลปะ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ศึกษาทางด้านนี้หรือบัณฑิต ย่อมสามารถพัฒนาอุดมการณ์และความดีงามสำหรับสังคมหลังสมัยใหม่ ซึ่งอุดมการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบโดยตรงไปสู่สื่อสารสังคม ที่บัณฑิตเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในสังคมในโลกของการสื่อสารในอนาคต

          ในวันที่ 7กรกฏาคม 2549 สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในสมัยของศาสตราจารย์ ดร. วิรุณ ตั้งเจริญมีมติเห็นชอบให้วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม เป็นส่วนงานในกำกับของมหาวิทยาลัย ตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พุทธศักราช 2550 มีฐานะเทียบเท่ากับคณะ สถาบัน และสำนักต่าง ๆ ในการนี้ได้แต่งตั้ง รองศาสตราจารย์พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ เป็นคณบดีคนแรกของวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม


หลักสูตรการศึกษา

ระดับปริญญาตรี

              หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (นวัตกรรมสื่อสารสังคม) (หลักสูตรใหม่ 2550)    
                                
                      วิชาเอกการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย
                      วิชาเอกการจัดการธุรกิจไซเบอร์
                      วิชาเอกคอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสาร

              หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล) (หลักสูตรใหม่ 2551)     
                                 
                      วิชาเอกการผลิตงานภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล
                      วิชาเอกการแสดงและกำกับการแสดงผ่านสื่อ
                      วิชาเอกการออกแบบเพื่องานภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล

              หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (นวัตกรรมการสื่อสาร) (หลักสูตรใหม่ 2554)   
                                  
                      วิชาเอกการสื่อสารเพื่อการจัดการนวัตกรรม
                      วิชาเอกการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยว
                      วิชาเอกการสื่อสารเพื่อสุขภาพ

              หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล) (หลักสูตรปรับปรุง 2555)     
                   
                      วิชาเอกการผลิตงานภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล
                      วิชาเอกการแสดงและกำกับการแสดงภาพยนตร์
                      วิชาเอกการออกแบบเพื่องานภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล

              หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (นวัตกรรมสื่อสารสังคม) (หลักสูตรปรับปรุง 2556)     
        
                      วิชาเอกการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย
                      วิชาเอกการจัดการธุรกิจไซเบอร์
                      วิชาเอกคอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสาร


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  

          วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
          อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่อง 114 สุขุมวิท 23
          แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

          โทรศัพท์ : 02-649-5000
          โทรสาร : 02-259-2344

          เว็บไซต์ : cosci.swu.ac.th/


ที่มา : kapook.com

วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สาขาสาขาวิชาเอกการจัดการธุรกิจไซเบอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การจัดการธุรกิจไซเบอร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม


ชื่อคณะ คณะวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม (Social Communication Innovation )
ชื่อสาขา สาขาวิชาเอกการจัดการธุรกิจไซเบอร์  (Cyber Business Management)
ชื่อปริญญา ศศ.บ. (นวัตกรรมสื่อสารสังคม)  ( ศิลปศาสตรบัณฑิต (นวัตกรรมสื่อสารสังคม))

รายละเอียดมุ่งผลิตนักบริหารจัดการธุรกิจทางไซเบอร์  ที่มีความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจ ออนไลน์(Cyber Business nature) ตลอดทั้งแนวทาง ในการสร้างสรรค์ ต่อยอดและบริหารจัดการธุรกิจออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ และอินเตอร์เน็ตที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถสร้างธุรกิจออนไลน์ เป็นบุคลากรของบริษัทองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ การจัดการธุรกิจในระบบสมัยใหม่ได้อย่างดี   ตลอดจนสามารถเป็นที่ปรึกษาการใช้ระบบไซเบอร์เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจในสังคมดิจิตอล  

คุณสมบัติ
รับผู้เข้าศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศที่สามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี โดยมีขั้นตอนการรับดังนี้
(1) เป็นผู้สําเร็จการศึกษาไม่ตํ่ากว่า กระทรวงศึกษาธิการหรือเทียบเท่า และ มัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตร
(2) ผ่านการคัดเลือกตามระเบียบข้อบังคับการคัดเลือกของมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒและ/หรือ ตามเกณฑ์ของสํานักงานคณะกรรมการ อุดมศึกษา
     - ผู้เรียนที่เข้าศึกษาโดยระบบการสอบตรง ตามระเบียบของมหาวิทยาลัย การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา ศรีนครินทรวิโรฒ        - ผู้เรียนที่เข้าศึกษาโดยระบบคัดเลือกของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

แผนการเรียน
วิทย์ - คณิต
ศิลป์ - คำนวณ
ศิลป์ - สังคม
ศิลป์ - ภาษา
ศิลป์ - จีน
ศิลป์ - ญี่ปุ่น
เทียบเท่า (อาชีวะ)
เทียบเท่า (กศน.)

ค่าเทอม
40,000 บาทต่อเทอม

จำนวนเทอม
8 เทอม

จำนวนปี
4 ปี

ทุนการศึกษา
กยศ.

ได้รับการรับรองจาก
สกอ. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

ผลงานและรางวัล
- ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับ นาย คงพันธ์ ธัชมาลี นิสิตชั้นปีที่ 3จากสาขา การจัดการธุรกิจไซเบอร์ที่ได้รับการคัดเลือก เข้าร่วมกิจกรรม กับทาง Google Thailandณ ประเทศสิงคโปร์

อาชีพ
สามารถประกอบอาชีพด้านการ สร้างธุรกิจออนไลน์ เป็ นบุคลากรของบริษัทหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการธุรกิจในระบบ สมัยใหม่ ตลอดจนสามารถเป็นที่ปรึกษาการใช้ระบบไซเบอร์เพื่อประโยชน์ในการทําธุรกิจในสังคม ดิจิทัล

รายได้เฉลี่ยต่อเตือน
20,000++

บุคลิกภาพที่เหมาะสมกับสาขานี้
- ชอบการพรีเซนต์งาน
- ควรสนใจงานด้านนำเสนอสินค้าออนไลน์
- ชอบงานด้านการตลาด

เว็บไซต์คณะสาขา